วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อิทธิพลของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐาน
          การตั้งถิ่นฐาน เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว จึงเกิดการรวมกลุ่มเพื่อตั้งบ้านเรือนและจัดการกับสิ่งรอบตัวให้เหมาะกับการดำรงชีพ การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์จะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐานนั้น ๆ ดังนี้

          ก. ปัจจัยทางกายภาพ แบ่งได้เป็น
                    ๑) โครงสร้างและระดับความสูงของพื้นที่เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าเขตที่ราบมีความเหมาะสมที่จะตั้งถิ่นฐานมากกว่าเขตที่สูงหรือภูเขา   เนื่องจากลักษณะพื้นที่กว้างขวางราบเรียบทำให้สามารถเพาะปลูกได้สะดวก  และเขตที่ราบมักจะมีดินอุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกพืชได้หลายชนิดมากกว่า สำหรับพื้นที่สูงหรือทุรกันดารซึ่งเข้าถึงลำบากนั้น   มีเหตุจูงใจให้มนุษย์ตั้งถิ่นฐานอยู่บ้าง  เช่น เพื่อความปลอดภัยจากการรุกราน หรือหากจำเป็นต้องตั้งถิ่นฐานตามภูเขาก็มักจะเลือกอยู่อาศัยในลาดเขาด้านที่เหมาะสม
                    ๒) อากาศ   อากาศมีผลโดยตรงต่อมนุษย์เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการกำหนดลักษณะดินและพืช สภาพของดินฟ้าอากาศมีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐาน มีอิทธิพลต่อการสร้างบ้านเรือน  ที่อยู่อาศัย และวิถีการดำรงชีวิตจากแผนที่แสดงการกระจายตัวประชากรจะเห็นได้ว่า   ประชาชนจะอยู่กันหนาแน่นในเขตที่มีอากาศเหมาะสม   ส่วนบริเวณที่มีอากาศปรวนแปรจะมีประชาชนเบาบาง หรือปราศจากผู้อยู่อาศัย
          นอกจากอุณหภูมิแล้ว  ความชื้นของอากาศก็มีความสำคัญ ในแถบศูนย์สูตรที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นจะทำให้เหนื่อยง่าย  มีเหงื่อมาก ไม่สบายตัว ในเขตอากาศเย็นกว่าแถบละติจูดกลาง  อุณหภูมิเย็นพอเหมาะ ทำให้การตั้งถิ่นฐานหนาแน่น
                    ๓) น้ำ ปัจจัยในเรื่องน้ำมีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐานมาก โดยเฉพาะในสมัยโบราณการตั้งถิ่นฐานทุกแห่งเป็นการหาพื้นที่ที่จะทำการเกษตรด้วย น้ำที่ใช้ในการทำเกษตรกรรมไม่จำเป็นต้องมาจากฝนหรือแหล่งน้ำลำธารแต่เพียงอย่างเดียว  ในบางแห่งที่ขาดฝน อาจหาแหล่งน้ำอื่น ๆ มาใช้เพื่อการเกษตร เช่น น้ำบาดาล
          ปัจจุบันมนุษย์สามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำไปได้มาก  เช่น  การจัดการระบายน้ำของชาวดัตช์   ทำให้สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกไปในที่ลุ่มต่ำกว่าระดับน้ำทะเลได้ สำหรับในประเทศไทยสามารถเพิ่มเนื้อที่เพาะปลูกริมทะเลด้วยการถมทะเล  หรือโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตามภาคต่าง ๆ  สิ่งเหล่านี้จะช่วยปรับปรุงพื้นที่ชนบทให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างกว้างขวาง

          ข. ปัจจัยทางวัฒนธรรม
          การที่มนุษย์ครอบครองพื้นที่เพื่อตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน  ณ  ที่ใดที่หนึ่ง ย่อมมีอิทธิพลต่อสภาพธรรมชาติ  รวมทั้งเกิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในถิ่นฐานเดียวกัน และระหว่างถิ่นฐานต่าง ๆ
          วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันออกไปในถิ่นฐานแต่ละแห่ง สามารถจำแนกได้เป็น
                    ๑) ภาษา โดยเฉพาะภาษาพูด ถือว่าเป็นตัวแทนของลักษณะวัฒนธรรม ภาษาเป็นสื่อสำคัญที่สืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นต่อ ๆ ไป กลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ มักมีภาษาของตนเอง   จึงใช้ภาษาเป็นเครื่องวัดความแตกต่างของวัฒนธรรมได้ ภาษาจึงอาจเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ  เช่น  การห้ามใช้ภาษาต่างประเทศ เป็นวิธีที่จะให้ประชาชนหันมาสนใจและรักประเทศของตน  ภูมิใจในชาติของตน รวมทั้งรักเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนยิ่งขึ้น
                    ๒) ศาสนา ศาสนาเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรม ความเชื่อถือยึดมั่นและการปฏิบัติตามหลักของศาสนาเป็นหลักที่กำหนดวิถีชีวิตในท้องถิ่น สถานที่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาอาจทำให้ท้องถิ่นหนึ่งมีความสำคัญมากกว่าท้องถิ่นอื่น  วัด โบสถ์  และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆทางศาสนา จะมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน  แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของชาตินั้น ๆศาสนาอาจมีอิทธิพลต่อการเกษตรกรรม การบริโภคอาหาร ตลอดจนด้านเศรษฐกิจ
                    ๓) การเมือง อิทธิพลทางการเมืองมีผลต่อพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินทำกิน  เช่น  กฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  กฎหมายเกี่ยวกับการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  พระราชกำหนดยกเลิกสัมปทานป่าไม้ เป็นต้น

           ค. ปัจจัยทางเศรษฐกิจ
          การประกอบอาชีพของมนุษย์ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของสภาพแวดล้อมและระดับความเจริญทางเทคโนโลยี  ตัวอย่างของวิวัฒนาการการประกอบอาชีพที่มีความสัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ได้แก่
                    ๑) การเพาะปลูก การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แบบถาวรเริ่มขึ้นเมื่อมนุษย์รู้จักเพาะปลูกด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งผลิตผลตามธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว และการตั้งถิ่นฐานแบบถาวนี้ มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมมาก  ตัวอย่างเช่น การทำไร่เลื่อนลอย เป็นการเพาะปลูกแบบไม่บำรุงดิน  เมื่อดำเนินไปหลายปีจะทำให้ดินเสื่อมสภาพลง  และต้องย้ายไปหาที่เพาะปลูกใหม่หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ เป็นการทำลายป่าและความอุดมสมบูรณ์ของดิน ส่วนการเพาะปลูกแบบไร่นาสวนผสมจะมีการดูแลบำรุงดินที่ดีกว่า   ทำให้สามารถคงความอุดมสมบูรณ์ของดินไว้ได้
                    ๒) การเลี้ยงสัตว์  แบ่งเป็น  ๓ ประเภทคือ การเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภค ไว้ใช้งาน และไว้ขาย ส่วนใหญ่จะทำในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก  การเลี้ยงสัตว์แบบอยู่เป็นที่จะไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากเท่ากับการเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อน
                    ๓) อุตสาหกรรม เป็นการนำผลิตผลมาดัดแปลงหรือแปรสภาพให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์  เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะซับซ้อน ในเนื้อที่น้อย ต้องใช้วัตถุดิบและเชื้อเพลิงจำนวนมากในการผลิต  มีการใช้แรงงาน ตลอดจนต้องการความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง  ไม่ว่าจะเป็นการนำวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานและผลิตผลจากโรงงานออกสู่ตลาด ทำให้เกิดการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้เกิดชุมชนขึ้นและมีการขยายตัวทั้งชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งย่อมจะมีผลต่อการเติบโตของเมืองอย่างกว้างขวาง

ที่มา  http://guru.sanook.com/search/knowledge_search.php?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น