วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเมืองมักจะเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของความเจริญรุดหน้าในด้านเศรษฐกิจและสังคม ดังเช่น กรุงเทพมหานครซึ่งประสบกับภาวะความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและประชากรอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แรงกดดันจากประชากรที่กำลังขยายตัว มีผล    ทำให้เขตกรุงเทพฯ ต้องมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวออกไปภายนอกคือ บริเวณวงแหวนรอบนอก ทั้งนี้เนื่องมาจากความอิ่มตัวของพื้นที่ชั้นใน ซึ่งมีการพัฒนาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่แล้ว  ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ที่กำลังอยู่ในขั้นวิกฤต  รายละเอียดของปัญหาต่างๆ มีดังนี้


  • ปัญหาอากาศเสียและเสียงเป็นพิษ
    อากาศเสีย
    ปัญหาอากาศเสียในเขตกรุงเทพมหานคร โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากควันและไอเสียที่ปล่อยออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับปัญหาการจราจรที่อยู่ในขั้นวิกฤติ
    เสียงเป็นพิษ ปัญหามลพิษทางเสียงที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่จะเกิดในบริเวณที่มีกิจกรรมและประชากรอยู่หนาแน่น เช่น เสียงที่เกิดจากการจราจรที่หนาแน่น เช่น บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 5 แห่ง ที่มีเสียงดังเกินมาตรฐาน ได้แก่ สีลม ศาลาแดง พร้อมพงษ์ สะพานควาย และอนุสาวรีย์ขัยสมรภูมิ





  • ปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมปัจจุบันคูคลองสายต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร กลายสภาพเป็นแหล่ง รองรับน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดหรือบำบัดไม่สมบูรณ์จากชุมชนและโรงงาน ต่างๆ เนื่องจากสิ่งสกปรกที่ปนในน้ำทิ้งจากชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม  การเกษตรกรรม ปศุสัตว์ มูลฝอยและสิ่งปฏิกูล อันประกอบด้วยอินทรียสาร และอนินทรียสารต่างๆ จำนวนมาก ถูกระบายลงสู่ลำคลองต่างๆ ส่งผลให้คุณภาพ น้ำในคลองเสื่อมโทรม
    อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญในการเข้าไปแก้ไข ปัญหาน้ำเน่าเสียอย่างมาก โดยในระยะสั้นมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อปรับปรุง คุณภาพน้ำของคลองสายต่างๆ โดยการปล่อยน้ำจาก แม่น้ำเจ้าพระยาให้ไหลเข้า มาเจือจางน้ำเน่าในคลองของกรุงเทพมหานครควบคู่กับการผันน้ำคลองมา บำบัดด้วยวิธีธรรมชาติที่บึงมักกะสัน และบำบัดด้วยวิธีเติมอากาศ (Areated  Lagoon)  ที่บึงพระราม 9 ส่วนในระยะยาว ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์กำจัดน้ำเสีย  ควบคู่กับการปรับปรุงระบบระบายน้ำ โดยในขณะนี้กรุงเทพมหานคร ได้ ดำเนินโครงการบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ ได้แก่   โครงการบำบัดน้ำเสียถนน พุทธมณฑลสาย 2 บึงพระราม 9 โรงพยาบาลศิริราช  สี่พระยา  เกาะ รัตนโกสินทร์ ยานนาวา หนองแขม ภาษีเจริญและราษฎร์บูรณะ ระบบบำบัด น้ำเสียรวมระยะที่ 1  และระบบบำบัดน้ำเสียรวมระยะที่ 2





  • ปัญหามูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
    มูลฝอยชุมชน
    ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมาณมูลฝอยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี  ทำให้ไม่สามารถเก็บขนได้หมด มีมูลฝอยเหลือตกค้างอยู่ตามบ้านเรือนประชาชนและกระจายอยู่ตามสถานที่ต่างๆ 
    สิ่งปฏิกูล  หมายถึง อุจจาระ และปัสสาวะ รวมตลอดถึงวัตถุอื่นใดซึ่งเป็นสิ่งสกปรกโสโครก และมีกลิ่นเหม็น (พระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2484) ปัจจุบัน ปัญหาจากสิ่งปฏิกูลในเขตกรุงเทพมหานครยังไม่เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนเท่ากับปัญหามูลฝอย เนื่องจากอาคารบ้านเรือนในชุมชนส่วนใหญ่มีการกำจัดสิ่งปฏิกูลของตนเองโดยใช้บ่อเกรอะ บ่อซึม หรือระบบบำบัดที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อเก็บกักและลดความสกปรกของสิ่งปฏิกูลลงบางส่วนก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ หรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบไปดำเนินการกำจัด
    ต่อไป





  • ปัญหามูลฝอยที่เป็นอันตรายในเขตกรุงเทพมหานคร มูลฝอยที่เป็นอันตรายประเภทต่างๆ อาทิเช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ที่เสื่อมสภาพ เศษกระป๋องยาฆ่าแมลง ถ่านไฟฉายหรือแบตเตอรี่เก่าๆ จากอาคารบ้านเรือนและย่านธุรกิจ มูลฝอยติดเชื้อจากสถานพยาบาลและกากสารพิษต่างๆ จากโรงงานอุตสาหกรรม    ส่วนใหญ่ถูกทิ้งปะปนกับมูลฝอยทั่วไป โดยกรุงเทพมหานครจะทำการเก็บขนและนำไปกำจัด เนื่องจากปริมาณขยะที่กรุงเทพมหานครเก็บขนมีจำนวนมากเกินขีดความสามารถที่จะทำลายโดยวิธีที่เหมาะสม มูลฝอยอันตรายจึงถูกกองในสถานกำจัดและเผากลางแจ้ง (Air burning) เป็นครั้งคราว มีผลให้สารพิษและสารเคมีฟุ้งกระจาย ตลอดจนเกิดการชะล้างโดยน้ำฝนลงสู่แหล่งน้ำ




  • ปัญหาชุมชนแออัดพื้นที่เมืองชั้นใน ซึ่งอยู่ในแนวถนนรัชดาภิเษกหรืออยู่ในแนวรัศมี มีระยะห่างจากใจ   กลางเมืองประมาณ 0-20 กิโลเมตร ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและความเจริญในด้านต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร และเป็นเนื้อเมือง (Buildup Area) ของกรุงเทพมหานคร ที่ทำให้พื้นที่ในเขตดังกล่าวเป็นแหล่งที่มีการจ้างงาน และมีการก่อสร้างสาธารณูปโภคและสาธารณูปการมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการคมนาคมที่มีโครงข่ายกว้างขวาง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงกลายเป็นสิ่งดึงดูดให้คนในชนบทเข้ามาหางานทำในเมือง และเกิดการตั้งถิ่นฐานอย่างไม่ถาวรในที่สาธารณะในส่วนต่างๆ ของกรุงเทพฯ ขึ้น เมื่อนานวันเข้าชุมชนเหล่านี้ขยายตัวมากขึ้น บ้านเรือนที่ปลูกสร้าง อย่างง่ายๆ มีการเบียดเสียดกันหนาแน่น จนกลายเป็นชุมชนที่เราเรียกกันว่า “ชุมชนแออัด”


  • ปัญหามลทัศน์ (Visual Pollution)มลทัศน์ (Visual Pollution) หรือเรียกว่า มลภาวะทางสายตาหรือทัศนอุจาด เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนเมืองที่เหมือนกับปัญหาน้ำเสีย อากาศเสีย เสียงดัง การจราจรคับคั่ง เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยจากการรับรู้ได้โดยการสูดกลิ่น การได้ยิน ในขณะที่การรับรู้ทางด้านมลทัศน์จะรับรู้ได้โดยการมอง (Visual Perception) ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อร่างกาย แต่จะทำให้ภูมิทัศน์เมือง (Urban Landscape) ไม่มีความสวยงาม ไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยขององค์ประกอบของเมือง ได้แก่ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง ระบบสาธารณูปโภค ซึ่งบริการและอำนวยความสะดวกต่อชุมชน รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์บนถนน (Street Furniture) ป้ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์บริเวณอาคารต่างๆ




  • ปัญหาน้ำท่วม
    กรุงเทพมหานครอยู่ในบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง ปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานครที่ผ่านมาหลายครั้งด้วยกันก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากมาย จากการที่กรุงเทพมหานครมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว  และมีการขยายตัวไปตามแนวถนนสายหลัก (Ribbon Development) มีการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรม เมื่อมีฝนตกเป็นปริมาณมาก ประกอบกับไหลบ่าของน้ำเหนือในฤดูฝน สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้จะไปกีดขวางการไหลของน้ำตามธรรมชาติ และสาเหตุอีกประการหนึ่งคือปัญหาแผ่นดินทรุดเนื่องจากการสูบน้ำบาดาล ซึ่งเดิมกรุงเทพฯเป็นพื้นที่ราบต่ำอยู่แล้ว เมื่อเกิดน้ำท่วมขังทำให้น้ำระบายได้ยากกว่าเดิม ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ทั้งนี้ปัญหาน้ำท่วมจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในช่วงน้ำทะเลหนุน ซึ่งจะไม่สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้
    ที่มา : สภาวะแวดล้อมของเรา = Our environment : กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549

    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น